วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม



ความหลากหลายทางวัฒนธรรม   

                 เป็นความเชื่อที่ค่อนตรงกันให้หมู่นักมานุษยวิทยาว่ามนุษย์มีกำเนิดในทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ 2 ล้านมาแล้ว จากนั้นได้เริ่มกระจายตัวไปทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย และบ่อยครั้งที่ต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นถิ่นและระดับทั่วโลก สังคมที่แยกจากห่างกันที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ของโลกมีความแตกต่างกันชัดเจน และความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมยังคงมีความต่อเนื่องสืบมาถึงปัจจุบัน
             แม้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมระหว่างหมู่ชนจะยังคงมีอยู่ เช่นความแตกต่างทางภาษา การแต่งกายและประเพณีก็ตาม แต่ในความแตกต่างที่หลากหลายในสังคมต่างๆ ก็ยังปรากฏให้เห็นความคล้ายในตัวของสังคมที่หลากหลาย คือแนวคิดทางศีลธรรมและวิธีที่กลุ่มชนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โจ เนลสันจากแสตมฟอร์ด เวอร์จิเนียเป็นผู้ทำให้วลี "วัฒนธรรมและความหลากหลาย" เป็นที่รู้จักแพร่หลายในช่วงที่เขาอยู่ในแอฟริกา เป็นที่ถกเถียงกันว่าความแตกต่างเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งมนุษย์สร้างที่เกิดขึ้นตามธรรมดาอยู่แล้วตามรูปแบบของการย้ายถิ่นของมนุษย์ไปในที่ต่างๆ หรือว่านี่คือตัวการที่เป็นหัวใจของของการสืบสายพันธ์ในช่วงวิวัฒนาการที่ทำให้สายพันธุ์ของมนุษย์ประสบความสำเร็จมากกว่าสัตว์พันธุ์อื่นๆ ด้วยการเทียบเทียบแนวกับ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่เชื่อกันว่ามีความสำคัญยิ่งยวดต่อการมีชีวิตรอดในระยะยาวของทุกชีวิตบนโลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อมมีความสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดในระยะยาวของมวลมนุษยชาติด้วย นั่นคือ การอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้ย่อมมีความสำคัญเท่าๆ กันกับกับการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และระบบนิเวศเพื่อให้สิ่งมีชีวิตบนโลกโดยรวมอยู่ได้
            บทอภิปรายนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ประการแรก เช่นเดียวกับความน่าเชื่อของการวิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ ความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งทำให้มนุษย์อยู่รอดได้ยังคงเป็นสมมุติฐานที่ยังไม่ได้รับการทดสอบซึ่งอาจไม่มีความชอบธรรมทางจรรยาบรรณที่จะอนุรักษ์ "สังคมที่ยังพัฒนาน้อย" ไว้เพราะอาจเป็นการห้ามผู้คนในสังคมนั้นไม่ให้ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ที่สร้างความสะดวกสบายและสวัสดิภาพแก่ "สังคมพัฒนาแล้ว" ประการสุดท้าย มีชนหลายหมู่โดยเฉพาะที่หมู่ชนมีความเชื่อทางศาสนาอย่างแรงกล้า ที่เชื่อว่าศาสนานั้นคือสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ตัวบุคคลและมวลมนุษย์โดยรวม ดังนั้นจึงควรมุ่งติดอยู่กับรูปแบบการดำรงชีวิตเพียงแบบเดียวที่หมู่ชนนั้นๆ เห็นว่าถูกต้องที่สุด ตัวอย่างเช่น องค์การสอนศาสนา "ฟันดาเมนทอลลิสต์อีแวนเจลิสต์" เช่น "นิวไทรบ์มิสชัน" ซึ่งทำงานอย่างแข็งขันเพื่อลดความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยการเลือกสังคมชนเผ่าที่อยู่ห่างไกล จับพวกชนเผ่าเหล่านั้นเข้ารีตกับความเชื่อของพวกเขาเองแล้วโน้มนำให้ชนเผ่าเหล่านั้นปรับเปลี่ยนรูปแบบสังคมของตนเองตามหลักการของพวกเขาเอง
            การแจงนับความหลากหลายทางวัฒนธรรมนับเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ตัวบ่งชี้ที่นับได้ว่าใช้ได้ดีตัวหนึ่งคือการนับจำนวนภาษาที่ใช้พูดในภูมิภาคนั้น หรือในโลกโดยรวม วิธีการนี้ จะช่วยให้มองเห็นระยะของการถดถอยที่รวดเร็วขึ้นในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลก งานวิจัยที่ทำเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2524-2533) โดยเดวิด คริสทัล (ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ บังกอร์) เสนอแนะในขณะนั้นว่า โดยเฉลี่ยในทุกสองสัปดาห์จะมีภาษาหนึ่งภาษาที่ถูกเลิกใช้ไป คริสทัลคำนวณว่า ถ้าการตายของภาษาอยู่ในอัตรานี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึง พ.ศ. 2643 ภาษาที่ใช้พูดในโลกปัจจุบันจะสูญหายไปมากกว่าร้อยละ 90
ประชากรที่มากเกินไป การย้ายถิ่นและจักรวรรดินิยม (ทั้งทางการทหารและเชิงวัฒนธรรม) คือสาเหตุที่นำมาใช้อธิบายการลดถอยของจำนวนภาษาดังกล่าว
           มีองค์การนานาชาติหลายองค์การที่กำลังพยายามทำงานเพื่อปกป้องการคุกคามดังกล่าวที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงหน่วยงาน "สืบชีวิตนานาชาติ" (Survival International) และยูเนสโกได้ออก "ประกาศสากลยูเนสโกว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม" (The UNESCO Universal Declaration on Cultural Diversity) โดยได้รับการยอมรับโดยประเทศสมาชิก 185 ประเทศเมื่อ พ.ศ. 2544 ยอมรับให้มีการกำหนดมาตรฐานนานาชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพิทักษ์รักษาและส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบทโต้ตอบระหว่างวัฒนธรรม
สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เครือข่ายแห่งความป็นเลิศ "การพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกที่มีความหลากหลาย" (Sustainable Development in a Diverse World -SUS.DIV) SUS.DIV สร้างขึ้นด้วยประกาศยูเนสโกที่จะสอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการพัฒนาแบบยั่งยืน

การพัฒนาที่ยั่งยืน

 
การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หมายถึง การตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่มีผลกระทบในทางลบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต

เนื่องจากทุกครั้งที่มีการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน ต้องมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออนาคต การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นแนวคิดในการแก้ปัญหานี้ โดยการพยายามอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ในลักษณะที่เป็นส่วนรวมหรือมหภาค คือ หากมีความจำเป็นที่จะดำเนินการให้กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่ใดที่หนึ่ง ก็จะต้องเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่อื่นๆ เป็นการชดเชยเพื่อให้ในแง่มหภาคของคุณภาพสิ่งแวดล้อมคงอยู่ได้ดังเดิม


การพัฒนาที่ยั่งยืน: การพัฒนายุคโลกาภิวัตน์

กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกลไกการตลาด ก่อให้เกิดการเติบโต การผลิต การบริโภคที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณ ดังนั้น การที่มนุษย์ยังคงใช้แนวทางพัฒนาแบบเก่าซึ่งไม่คำนึงถึงข้อจำกัดในการพัฒนา อันหมายถึง ข้อจำกัดด้านสภาพ ความสามารถที่จะรองรับการบริโภค และการใช้ประโยชน์จากโลก และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่จะนำมาบริโภค และใช้ประโยชน์หมดลง อีกไม่นานทุกชีวิตบนโลกจะต้องจบสิ้น เพราะมนุษย์จะไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้อีกต่อไป การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นแนวคิดเพื่อป้องกันมิให้โลกต้องเดินไปสู่จุดจบ

มาตรการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความล้มเหลวของการพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ผ่านมา นอกจากจะทำลายสิ่งแวดล้อม ชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณแล้ว ยังพบว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ ได้สร้างปัญหาให้กับความเป็นอยู่ของมนุษย์ และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างมหาศาล เนื่องจากรัฐบาลไม่รับผิดชอบ ไม่ฉับไวต่อการตอบสนองความต้องการของประชาชน ระบบราชการมีคอร์รัปชันสูง ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีความโปร่งใส ฯลฯ

นานาชาติจึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อแสวงหาแนวคิดที่เป็นกลางที่สุดมาเยียวยา ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ผลสรุปที่ได้คือ ทั่วโลกควรปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเสียใหม่ โดยจะต้องยกเลิกการพัฒนาซึ่งรัฐเป็นผู้ชี้นำและออกคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ในลักษณะ รัฐประชาชาติ (Nation State) โดยปรับเปลี่ยนเป็น ประชารัฐ (Civil State) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนในลักษณะที่เป็นประชาสังคม

ประชาสังคม หรือ Civil Society คือ การพัฒนาที่เกิดขึ้นจากความริเริ่มของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยทุกฝ่ายในสังคมต่างให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน คำว่า ประชารัฐ จึงหมายถึง รัฐซึ่งมีรัฐบาล เอกชน และประชาชนร่วมมือกันในทุกเรื่องที่เป็นสาธารณะ นั่นเอง

ดังนั้น การที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จลงได้หรือไม่อย่างไรนั้น ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญ รัฐบาลในหลายๆ ประเทศจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ จากที่เคยมองว่ารัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน รัฐบาลจึงสามารถควบคุมและครอบงำประชาชนให้ปฏิบัติตามคำสั่งได้ มาเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งในระดับการร่วมรับรู้การตัดสินใจขององค์กรของรัฐ และในระดับการร่วมตัดสินใจ และจะต้องมีการตกลงกันให้ชัดเจนว่าสัดส่วนของบทบาทภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการพัฒนานั้นควรจะเป็นลักษณะใด หรือที่เรียกว่า ประชารัฐนั่นเอง

และเพื่อให้การพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถแทรกเข้าไปในทุกส่วนของสังคมโลก เมื่อเริ่มต้นทศตวรรษที่ 1980 องค์การสหประชาชาติ จึงเสนอให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความล้มเหลวในการพัฒนาตามที่กล่าวมาข้างต้น เร่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง การบริหาร การศึกษา การขจัดและลดความยากจน การส่งเสริมให้มีการบูรณาการทางการผลิต ทางการเกษตร การสร้างงาน ที่พอเพียงกับการเติบโตของประชากร การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และการลดอัตราการขยายตัวของประชากร ฯลฯ โดยนำระบบการจัดการที่ดี มาใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้การพัฒนามีภาพของอนาคตที่เป็นรูปธรรม วิธีการดังกล่าวนั้นเรียกว่า ธรรมาภิบาล ธรรมรัฐ การสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือ Good Governance

โดยความหมายของ Good Governance นี้ แต่เดิมธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายถึง ลักษณะและวิถีทางของการใช้อำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อการพัฒนา
ส่วน Commission on Global Governance ได้ให้คำนิยามคำว่า “Governance” ไว้ในเอกสารชื่อ Our Global Neighbourhood ว่า หมายถึง ผลลัพธ์ของการจัดการกิจกรรม ซึ่งบุคคลและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนมีผลประโยชน์ ได้กระทำลงในหลายทิศทาง โดยมีลักษณะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การผสมผสานผลประโยชน์ที่หลากหลายและขัดแย้งกันได้ ด้วยการร่วมมือกันจัดการในเรื่องนั้น

วิธีการจัดการดังกล่าว UNDP ได้นำเสนอไว้ 7 ประการ

โดยกล่าวไว้ว่า องค์ประกอบทั้ง 7 ประการต่อไปนี้ ควรถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของประเทศโลกที่ 3 ซึ่งได้แก่
1. ประชาชนจะต้องยอมรับในความชอบธรรมของรัฐบาล (Legitimacy) และ รัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนในกิจการที่ได้กระทำลงไป (Accountability)
2. ประชาชนจะต้องมีอิสระเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และในการมีส่วนร่วม (Freedom of Association and Participation)
3. จะต้องมีกรอบแห่งกฎหมายที่ชัดเจน และเป็นระบบที่ก่อให้เกิดสภาวะที่มั่นคง เป็นหลักประกันต่อชีวิตและการทำงานของพลเมือง รวมทั้งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกอบการ และเกษตรกร นอกจากนี้ กฎหมายจะต้องปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอหน้ากัน ทั้งนี้โดยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ จะต้องเปิดเผยเป็นที่รู้กันล่วงหน้า ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีวิธีการที่ประกันการบังคับใช้กฎหมาย การตัดสิน ข้อขัดแย้งต้องเป็นการตัดสินใจโดยฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระและเชื่อถือได้ รวมถึงจะต้องมีกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ได้ เมื่อหมดประโยชน์ ใช้สอย

4. ระบบราชการจะต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินกิจการต่างๆ (Bureaucratic Accountability) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการงบประมาณของรัฐซึ่งจะต้องมีการควบคุม ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งของรัฐและบุคลากร เพื่อป้องกันมิให้ใช้ทรัพยากรโดยมิชอบ ทั้งนี้จะต้องมีความโปร่งใส (Transparency) ในการปฏิบัติราชการทุกระดับ

5. จะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ โดยรัฐบาลจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น ด้านรายได้ประชาชาติ ดุลการชำระเงิน สภาพการจ้างงาน และดัชนีค่าครองชีพเป็นต้น

6. จะต้องมีการบริหารงานภาครับอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

7. จะต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับองค์กรของประชาสังคม ซึ่งหมายถึง องค์กรประชาชน (People's organization) และองค์กรอาสาสมัครเอกชน (NGOs)

องค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมิติใหม่ของการจัดการพัฒนาโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง เป็นแนวทางที่ทุกส่วนในโลกจะต้องผนึกกำลังให้เป็นกระแสหลัก โดยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโลกทัศน์ของผู้นำทุกระดับ (ทั้งภูมิภาค ชาติ ชุมชน) ไปเป็น แบบพหุนิยมองค์รวม (Holistic Pluralism) ด้วย มิใช่เอกนิยมองค์รวม

สำหรับประเทศไทย นักคิด นักวิชาการ ได้ร่วมกันเปิดเวทีความคิด แถลง และตีความแนวคิดเรื่องธรรมรัฐ จนกระทั่งถูกนำไปกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 - 2544) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชารัฐ ได้อาศัยหลักคิดดังกล่าวเป็นแนวทางสำคัญในการประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์สำคัญ ในการพัฒนาสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการเน้นสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน การพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐ และระบบราชการ ให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

และหากพิจารณาประกอบกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2540 แล้ว จะพบว่า หลักธรรมรัฐได้ถูกบรรจุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องต่างๆ เช่น การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการให้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มี เสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามแนวทางธรรมรัฐ (Good Governance)

จนกระทั่งสำนักงาน ก.พ. ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประชุม เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ลงมติเห็นชอบวาระแห่งชาติ สำหรับการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง จัดทำแผน และโครงการในการปรับปรุงงานที่รับผิดชอบให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
ซึ่ง หลักธรรมาภิบาล 6 ประการ ตามแนวทางของสำนักงาน ก.พ. ได้แก่
- หลักนิติธรรม
- หลักคุณธรรม
- หลักความโปร่งใส
- หลักการมีส่วนร่วม
- หลักความรับผิดชอบ
- และหลักความคุ้มค่า
และให้สำนักงาน ก.พ. รวบรวมและประเมินผลเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาจะต้องอยู่ในพื้นฐานหลักการที่เรียกว่า " ความยุติธรรมระหว่างคน 2 ยุค " หรือแนวคิดของ การพัฒนาที่ยั่งยืน มุมมองของมนุษย์จะต้องปรับเปลี่ยน ให้เปิดกว้างยอมรับความจริงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่จะติดตามมาจาก การกระทำ ของตน มนุษย์จะต้องประสานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ จริยศาสตร์ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นข้อกำหนด ทั่วไปขึ้นโดยเริ่มต้นจากการปูพื้นฐานความรู้ทางด้านนิเวศวิทยา และระบบนิเวศสร้างความ เข้าใจถึงปฎิสัมพันธ์ในระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง และปฎิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ต่อจากนั้นจึงชี้ให้เห็นถึง หลักการ ถ่ายทอดพลังงาน โดยการกินต่อกันเป็นทอดๆ และวัฏจักรของสสาร ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการทำให้สสาร และพลังงาน สามารถหมุนเวียน ในระบบนิเวศ ก็จำเป็นจะต้องสร้างให้เกิดเป็นความคิดรวบยอดขึ้น ในระบบความคิดพร้อมจะนำไปเชื่อมโยงกับ ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืน ประสบผลสำเร็จความหมายของ การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทั่วไปหมายถึง การพัฒนาเพื่อบรรลุถึงความต้องการของมนุษยชาติในปัจจุบัน (โดยเฉพาะคนยากจน) ขณะเดียวกันก็ จะต้องไม่เป็นลดทอน หรือเบียดบังโอกาศที่จะบรรลุความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย ซึ่งนักนิเวศวิทยามีความเห็นว่า มนุษย์จะต้อง ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิถีทางแห่งการดำรงชีวิตของตนในปัจจุบันใหม่ อย่างถอนรากถอนโคนเลิกความคิดที่เรียกว่า สภาพจิตแบบ บุกฝ่า พรหมแดน หรือ Frontier mentality เสีย ปรับเปลี่ยนวิธีคิดโลกทรรศน์ และค่านิยม

จากมองระยะสั้นไปสู่การมองระยะยาว และเน้นที่ ผลประโยชน์ของ โลกธรรมชาตเป็นเกณฑ์ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องผสมผสานแนวคิด หรือพยายามให้อยู่ในกรอบ ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ นิเวศวิทยา และสังคมวิทยา เพราะการประสานหลักการทั้งสาม เข้ากับการปฏิบัติพัฒนา จะช่วยให้ แนวทางการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือมุ่งตรงไปสู่จุดหมายอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ การเขียนแนวคิด ที่นำไปสู่การพัฒนายั่งยืน ของนิเวศวิทยา แต่ละท่านอาจแตกต่างกันบ้าง ในหัวข้อปลีกย่อยแต่ประเด็นหลัก ๆ ในการเขียน ดังที่ Miller G. Tyler ได้แสดงออกมานั้นย้ำให้มนุษย์ทุกคนเห็นว่าการประสานหลักการ ทางวิทยาศาสตร์ จริยธรรมสิ่งแวดล้อม และแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างผสมผสาน และเป็นรูปธรรมจะทำให้มนุษย์กับ สิ่งแวดล้อมอยู่ควบคู่กันไป โดยสันติสุขสงบและยั่งยืน

ความจำเป็นในการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน

  1. ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม ประเทศไทยเคยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับปัญหาความต้องการพลังงาน และเป็นสาเหตุของการทำลายสภาพแวดล้อม ในขณะที่รูปแบบการบริโภคพลังงานของคนไทยในปัจจุบัน ก็นำไปสู่ความไม่ยั่งยืน จะเห็นได้จากในภาคอีสาน การเพิ่มขึ้นของความต้องการพลังงานนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรง เช่น การต่อต้านโครการเขื่อนปากมูล ในจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจาก ผลกระทบของโครงการทำให้จำนวน และพันธ์ปลาในแม่น้ำมูลซึ่งทำให้แหล่งอาหารที่สำคัญมากของคนในภาคอีสานใต้ลดต่ำลงอย่างมาก

    2. แม้ว่าจะมีการประสบการณ์ที่เป็นปัญหาในหลายด้าน ภาคอีสานยังคงอยู่ในสถานะที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบพลังงานและรูปแบบการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ฟืนพบได้ในหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วภาคอีสาน และพลังงานทดแทนอื่น ๆ ควรจะได้รับการพิจารณาและศึกษาอย่างจริงจัง หากสามารถพัฒนาระบการจัดการให้มีประสิทธิภาพแล้ว แหล่งพลังงานทดแทนจะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับความยั่งยืนในภาคอีสาน



แนวคิดและการปฏิบัติของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน

การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนประกอบด้วยหลัก 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ การพัฒนาพลังงานยั่งยืน หมายถึง การสร้างผลประโยชน์จากพลังงานใหมากที่สุดโดยจะต้องรักษาทุนของสังคมไว้ (ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์) ในแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อมการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเน้นการรักษาเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ทั้งทางชีวภาพ และกายภาพ จากการผลิตและการใช้พลังงาน และในแง่มุมด้านสังคม การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องรักษาความมั่นคงของสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งการลดความขัดแย้งในสังคมที่มีสาเหุตมาจาก การผลิตและการใช้พลังงาน โดยสรุปแผนพัฒนาพลังงานยั่งยืนจะครอบคลุมหัวข้อทั้งสาม โดยเน้นการสร้างผลประโยชน์จากพลังงานที่มากที่สุด โดยคงระดับทรัพยากรที่มีอยู่ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรมน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ภายใต้แนวคิดทั้งสามประการของพลังงานยั่งยืน ควรจะพิจารณามุมมองห้าประการนี้ด้วย ได้แก่

1) การพัฒนาพลังงานยั่งยืน ควรอยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยี และระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด
2) การพัฒนายั่งยืน ควรอยู่บนพื้นฐานของการใชัพลังงานทดแทนจากแหล่งทรัพยากรภายในประเทศ ซึ่งสามารถมั่นใจในแหล่งทรัพยากรและส่งผมให้เกิดการบำรุงรักษาแหล่งทรัพยากรอีกด้วย นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว การใช้พลังงานทดแทนทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยกว่า
3) การผลิตและการใช้พลังงาน ซึ่งครอบคลุมถึงเทคโนโลยีและระบบการจัดการ จะต้องไม่ทำลายระบบนิเวศน์ สังคมและวัฒนธรรม
4) ถ้าในอนาคตไม่สามารถหลีกเลี่ยงผมกระทบเหล่านี้ได้ ผู้ที่ก่อมลพิษก็ต้องเป็นผู้จ่ายเงินเนื่องจากตนเองได้รับผลประโยชน์ โดยใช้หลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย

มุมมองทั้ง 4 ข้อนี้ จะชลอหรือแม้กระทั่งสามารถลดอัตราการเจริญเติบโตของการผลิตพลังงาน การเปลี่ยนรูปพลังงาน เทคโนโลยีของการใช้พลังงาน แลุะการลงมือปฏิบัติที่ไม่พึงปรารถนา ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการจ่ายค่าชดเชยจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ไปสู่ประชาชน ครัวเรือน ชุมชนหรือระบบนิเวศน์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการผลิตและการใช้พลังงาน จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ รวมถึงรักษาความเท่าเทียมกันในสังคมไทยด้วย
5) การจัดตั้งกลไลเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน และเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงของสังคมและวัฒนธรรมในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง ที่มีสาเหตุมาจากการผลิต การเปลี่ยนรูป และการบริโภคพลังงาน
 
 
 
 
 
 
 

ค่านิยมและการสัมผัสรับรู้



ค่านิยม (Value) ความหมายทางด้านการบริหาร หมายถึง เป็นความเชื่อทีถาวรเกี่ยวกับสิ่งซึ่งเหมาะสม และไม่ใช่สิ่งซึ่งแนะนำพฤติกรรมของพนักงานให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ค่านิยมอาจอยู่ในรูปของการกำหนดความคิดเห็น (Ideology) และเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในแต่ละวัน

ประเภทของค่านิยม
Phenix ใช้หลักความสนใจและความปรารถนาของบุคคลแบ่งค่านิยมออกเป็น 6 ประเภท คือ
1. ค่านิยมทางสังคม (Social Values) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้เกิดความรักความเข้าใจและ ความต้องการของอารมณ์ของบุคคล
2. ค่านิยมทางวัตถุ (Material Values) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้ชีวิตร่างกายของคนเรา สามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป ได้แก่ ปัจจัยสี่ คืออาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และยารักษาโรค
3. ค่านิยมทางความจริง (Truth Values) เป็นค่านิยมเกี่ยวกับความจริงซึ่งเป็นค่านิยมที่ สำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการความรู้ และนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการค้นหากฎของธรรมชาติ
4. ค่านิยมทางจริยธรรม (Moral Values) เป็นค่านิยมที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบชั่วดี
5. ค่านิยมทางสุนทรียะ (Aesthetic Values) เป็นความซาบซึ้งใจในความดีและความงาม ของสิ่งต่างๆ
6. ค่านิยมทางศาสนา (Religious Values) เป็นค่านิยมที่เกี่ยวกับความปรารถนาความ
สมบูรณ์ของชีวิต รวมทั้งความศรัทธา และการบูชาในทางศาสนาด้วย จากประเภทต่างๆ ของค่านิยมข้างต้น ค่านิยมความรัก คู่ครอง และการแต่งงาน ที่ศึกษาใน การวิจัยครั้งนี้เป็นค่านิยมที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพทางสังคมวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ค่านิยมที่ศึกษาเป็นค่านิยมที่ศึกษาเป็นค่านิยมทางสังคมและทางจริยธรรม

หน้าที่ของค่านิยม
สุนทรี โคมิน และสนิท สมัครการ กล่าวถึง หน้าที่ของค่านิยม 7 อย่างไว้ดังนี้
a.ค่านิยมจูง (Lead) เป็นค่านิยมที่ช่วยให้บุคคลได้แสดงจุดยืนของตนในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสังคมออกมาอย่างชัดเจน
b.ค่านิยมเป็นตัวช่วยกำหนด (Predispose) ให้บุคคลนิยมอุดมการณ์ทางการเมืองบางอุดมการณ์มากกว่าอุดมการณ์อื่น
c.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ช่วยนำ (Guide) การกระทำให้ทำบุคคลประพฤติ และแสดงตัวต่อผู้อื่นที่ประพฤติเป็นปกติอยู่ทุกวัน
d.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ในการประเมิน (Evaluate) ตัดสินการชื่นชมยกย่อง การตำหนิ ติเตียนตัวเอง และการกระทำของผู้อื่น
e.ค่านิยมเป็นจุดกลางของการศึกษา กระบวนการเปรียบเทียบกับผู้อื่น
f.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ถูกใช้ในการชักชวน (Persuade) หรือสร้างประสิทธิผลต่อคนอื่น
g.ค่านิยมเป็นบรรทัดฐานที่ถูกใช้เป็นฐาน (Base) สำหรับกระบวนการให้เหตุผลต่อความนึกคิด และการกระทำของตน


การรับรู้ คือ การตีความหรือแปลความหมายข้อมูล (กระแสประสาท) จากการสัมผัส ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งที่มาสัมผัสนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร ในการตีความหรือแปลความหมายนี้ต้องอาศัยการจัดหมวดหมู่ของสิ่งเร้า ประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ผ่านมา อารมณ์ และแรงจูงใจ เช่น เรามองเห็นจุดดำ ๆ จุดหนึ่งอยู่ลิบ ๆ บนท้องฟ้า (การสัมผัส) เรายังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ต่อเมื่อจุด ๆ นั้นเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ จนมองเห็นชัด เราจึงรู้ว่าที่แท้จริง ก็คือนกตัวหนึ่ง (การรับรู้) นั่นเอง หรือถ้าเราเห็นรูป เราจะรับรู้ทันทีว่า คือรูป สี่เหลี่ยม ( ) เพราะเราจัดหมวดหมู่โดยพิจารณาถึงรูปที่สมบูรณ์ของ นั่นเอง การจัดหมวดหมู่ของสิ่งเร้ามีหลายลักษณะเช่น จัดโดยอาศัยความคล้ายคลึงกัน จัดโดยอาศัยความต่อเนื่อง เป็นต้น การจัดหมวดหมู่ของสิ่งเร้านี้ช่วยให้เราแปลความหมาย (รับรู้) ได้ถูกต้องรวดเร็วขึ้น การรับรู้ของคนเรามีหลายชนิด ดังต่อไปนี้

1. การได้ยิน เราสัมผัสคลื่นเสียงทางหูแล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้น จนรับรู้ว่าเป็นเสียงอะไร และเรายังสามารถบอกตำแหน่งทิศทางและระยะทางของแหล่งกำเนิดเสียงได้อีกด้วย

2. การมองเห็น เราสัมผัสคลื่นแสงจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ทางนัยน์ตาแล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้ว่าสิ่งเร้าที่เห็นนั้นคืออะไร

3. การได้กลิ่น เราสัมผัสโมเลกุลของไอที่ระเหยมาจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ทางจมูกแล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร เหม็น หอม เน่า หรือ กลิ่นเครื่องเทศ

4. การรู้รส เราสัมผัสสิ่งเร้าบางอย่างโดยลิ้น แล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้ว่าสิ่งเร้านั้นมีรสอะไร หวาน เค็ม หรือขม เป็นต้น

5. การรับรู้ทางผิวกาย เราสัมผัสสิ่งเร้าที่มากระตุ้นผิวกาย แล้วแปลความหมายของกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจนรับรู้เราว่าสัมผัสอะไร นอกจากนี้ยังรู้ถึงอุณหภูมิและความเจ็บปวดที่เกิดจากการสัมผัสอีกด้วย

6. การรับรู้ความรู้สึกภายในของร่างกาย ได้แก่การรับรู้ตำแหน่งหรือการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ โดยไม่ต้องอาศัยอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 ข้างต้น เช่น ถึงแม้หลับตาเราก็สามารถตักอาหารใส่ปากได้ถูกต้อง เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากเรารับรู้ว่าปาก แขน มือ ฯลฯ ของเราอยู่ตำแหน่งใดเราจึงทำเช่นนั้นได้ การรับรู้นี้เกิดจากการแปลความหมายของสภาวะกล้ามเนื้อ เอ็น หรือข้อต่อต่าง ๆ ขณะยืดตัว หดตัวหรือคลายตัว เป็นสำคัญ การรับรู้ความรู้สึกภายในของร่างกายอีกชนิดหนึ่ง คือการทรงตัว ทำให้เราทราบว่าร่างกายเรากำลังอยู่ท่าไหนอยู่ในตำแหน่งที่สมดุลหรือไม่ ถ้าไม่ก็พยายามปรับเข้าสู่สมดุลต่อไป มิฉะนั้นจะรู้สึกคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรืออาเจียนได้

สิทธิมนุษยชน



  สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมีโดยเสมอภาคกัน เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่าง มีศักดิ์ศรีมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่และสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิดและเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ
สิทธิมนุษยชน หมายถึงแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ที่ว่า มนุษย์นั้นมีสิทธิหรือสถานะสากล ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับขอบเขตของกฎหมาย หรือปัจจัยท้องถิ่นอื่นใด เช่น เชื้อชาติ หรือ สัญชาติ

จาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า "มนุษยทั้งหลายทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง"[1]

ความดำรงอยู่ ความถูกต้อง และเนื้อหาของสิทธิมนุษยชน เป็นหัวข้อที่เป็นที่โต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางปรัชญาและรัฐศาสตร์ ตามกฎหมายแล้ว สิทธิมนุษยชนได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ และในกฎหมายภายในของหลายรัฐ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนจำนวนมากแล้ว หลักการของสิทธิมนุษยชนนั้นกินขอบเขตเลยไปกว่ากฎหมาย และก่อร่างขึ้นเป็นหลักศีลธรรมพื้นฐานสำหรับวางระเบียบภูมิศาสตร์การเมืองร่วมสมัย สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว สิทธิมนุษยชนคือความเสมอภาคในอุดมคติ

  สิทธิมนุษยชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ ในฐานะ ที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกต่างมีเจตจำนงประการสำคัญว่า การคุ้มครองสิทธิ-มนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเงื่อนสำคัญประการหนึ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพในประเทศสมาชิก ที่ร่วมองค์กรและสังคมระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง, การเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ตลอดจนกติการะหว่างประเทศที่ว่าด้วยการจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น


  บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีสาระสำคัญเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ และ มาตรา ๒๐๐ บังคับไว้ในส่วนที่ ๘ ที่ว่าด้วย “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๑๑ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

มาตรา ๒๕๖ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงาน ที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๕๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

(๒) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

(๓) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

(๔) ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจาก ผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

(๕) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และ กฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

(๖) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน

(๗) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน

(๘) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา

(๙) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสารหรือ หลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

  สิทธิมนุษยชน คืออะไร


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๓๔ (๑) กำหนดบังคับไว้ให้ออกกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายมารองรับ เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒” ซึ่งมีประเด็นสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้

(๑) มาตรา ๓ ให้คำจำกัดความว่า “สิทธิมนุษยชน” หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง หรือคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือศักดิ์ศรีความเป็นคนเป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือแนวคิดอื่น ๆ เผ่าพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ เช่น คนเราทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายไม่ว่าที่ไหน เมื่อไร (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๖)

คนเราทุกคนเกิดมามีอิสระเสรี มีศักดิ์ศรี มีสิทธิเท่าเทียมกันหมดทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑)

รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติรับรอง กำชับ และเรียกร้องเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย อย่างชัดเจน ได้แก่

(๒) มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง”

(๓) มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ”

(๔) มาตรา ๒๘ บัญญัติว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

  สิทธิมนุษยชนกับทหาร


ทหารจำเป็นต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าระงับการชุมนุมระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕ รับทราบรายงานของคณะกรรมการกลั่นกรองรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จริงของเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นชอบตามข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมการ ฯ โดยมีมาตรการที่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหม คือ

ข้อ ๓ รับไปดำเนินการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการแสดงออกอย่างเสรีในหลักสูตรการศึกษาทุกแขนง โดยเฉพาะการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในหลักสูตรวิชาทางทหาร ตำรวจ และนักปกครองระดับต่าง ๆ เพื่อให้ตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ

  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน


ตามมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว มีคุณสมบัติดังนี้


มาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ประธานคณะกรรมการ

๑. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

๒. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

๓. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

๔. ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง

๕. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

๖. ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ

๗. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

๘. ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล

๙. ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

๑๐. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

๑๑. ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

๑๒. ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบ-ปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

๑๓. ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง


มาตรา ๗ ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการต้อง

(๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

(๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ

(๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด

เมื่อวุฒิสภาเลือกบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) โดยได้รับความ ยินยอมของผู้นั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการใหม่แทน

เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ “โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และผู้แทนขององค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ( ม.๕ ) โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในตำแหน่ง ๖ ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและดำรง ตำแหน่งเพียงวาระเดียว (ม.๑๐ ว.๑)

การดำเนินงานของคณะกรรมการ


๑. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขกรณีที่มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดี อยู่ในศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว (ม.๒๒)

๒. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีสิทธิยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการโดยผู้นั้นเอง หรือผู้ทำการแทน แจ้งการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยการร้องเรียนด้วยวาจาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กระทำได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด (ม.๒๓)

๓. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องต่อองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อองค์การเอกชนพิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่ากรณีมีมูลก็อาจเสนอเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการต่อไป (ม.๒๔)

๔. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลได้เหมือนคดีทั่วไป ตามแต่สิทธิที่ถูกลิดรอน เช่น ทางร่างกายก็ฟ้องต่อศาลอาญา ทางลิขสิทธิ์ก็นำคดีสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ เป็นต้น

โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้ละเมิด เพียงแต่แจ้งให้ผู้กระทำละเมิดได้ทราบว่าสิ่งที่กระทำนั้นละเมิดต่อผู้อื่น

  ความเข้าใจเบื้องต้นในสิทธิมนุษยชน


ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จ สำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ปัจเจกบุคคลทุกผู้ทุกนามและองค์กรของสังคมทุกหน่วย โดยการระลึกเสมอ ๆ ถึงปฏิญญานี้ พยายามสั่งสอนและให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ และด้วยมาตรการที่เจริญก้าวหน้าไปข้างหน้า ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและการถือปฏิบัติต่อสิทธิเหล่านั้นสากล และได้ผลทั้งในหมู่ประชาชนของรัฐสมาชิกเอง และหมู่ประชาชนแห่งดินแดนที่อยู่ภายใต้ดุลอาณาของรัฐสมาชิกดังกล่าว

ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกัน ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง

ข้อ 2บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดาที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใด ๆ เช่นเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด

นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกสารอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด ข้อ 3 บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในเสรีธรรมและความมั่นคงแห่งร่างกาย

ข้อ 4 บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาวะจำยอมใด ๆ มิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ทุกรูปแบบ

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้น จะกล่าวถึงหลักการเบื้องต้นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมที่กล่าวไว้ในหลักการในการประกาศปฏิญญาสากล และปฏิญญากลในข้อ 1- ข้อ 4 เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข

สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม ซึ่งความถูกต้องชอบธรรมนั้นมีที่มาจากการเคารพซึ่งกันและกัน การใช้สิทธินั้น เราใช้ได้เท่าที่ไม่ไปละเมิดในสิทธิของผู้อื่น เช่น เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นของชีวิต

สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ของศักดิ์และสิทธิ์ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว อายุ ศาสนา ภาษา และสถานภาพ ทางกายภาพและสุขภาพ รวมทั้งความเชื่อทางสังคม การเมือง ชาติกำเนิดเหล่านี้ คือสิทธิที่มีมาแต่กำนิด ไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่นสิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น

สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญในฐานะอารยธรรมโลก นับเป็นความฉลาดของมนุษย์ที่พยายามวางระบบคิดเพื่อให้คนทั้งโลกเกิดความตระหนักรู้และคิดคำนึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ นับแต่ขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี ชาติกำเนิด รวมทั้งระบบสิทธิต่างๆที่มีพื้นฐานมาจากความชอบธรรม ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสิทธิโดยกำเนิด สิทธิตั้งแต่เกิด การให้ความสำคัญกับคำว่า ชีวิต ว่าโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายล้วนต้องการปัจจัยในการดำรงชีวิตด้วยกันทั้งนั้น นับแต่ปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ว่าด้วยอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม การดำรงเผ่าพันธุ์ การมีชีวิตรอด ฯลฯ ความต้องการขั้นพื้นฐานเหล่านี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญกับชีวิตเป็นที่สุด และเหมือนกันทั้งมนุษย์และสัตว์ ซึ่งสิทธิดังกล่าวหากเป็นความชอบธรรมของมนุษย์ก็คือ สิทธิมนุษยชน ทั้ง มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม มนุษย์กับธรรมชาติ และแม้แต่กับสัตว์ การคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานมีความจำเป็นอยู่เสมอ เหล่านี้นับเป็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่สังคมโลกต่างให้ความตระหนัก การคำนึงถึงสิทธิดังกล่าว จะถือเป็นบันไดก้าวไปสู่ความยุติธรรมทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆร่วมกัน

  สรุป


รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน และยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบ และรายงานการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายไทย หรือตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าบุคคลนั้นจะมีอายุเท่าไร เพศใด เชื้อชาติใด นับถือศาสนาและภาษาอะไร มีสถานภาพทางกายหรือฐานะใด หากบุคคลอยู่ในพื้นที่ที่ใช้รัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตลอดจนการตรากฎหมาย การตีความ และการบังคับใช้กฎหมายอาจมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หากถูกลิดรอนหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สามารถร้องเรียนต่อศาลเพื่อให้ดำเนินคดีได้









ความยุติธรรมในสังคม


             มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่เป็นสังคม การที่อยู่ร่วมกันก็ย่อมมีการประพฤติปฏิบัติต่อกันและกัน รวมทั้งมนุษย์แต่ละคนย่อมมีแนวปฏิบัติของตนเองว่า จะกระทำอะไร อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร โดยธรรมชาติมนุษย์มีแนวโน้มที่จะใฝ่หาความสุข ความสบาย หลีกหนีความทุกข์ยาก ความลำบาก และโดยธรรมชาติมนุษย์อาจจะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเลวร้ายหรืออย่างเอารัดเอาเปรียบ หากว่าตนเองจะได้รับประโยชน์หรือความสุขความสบายเป็นเครื่องตอบแทนถ้าทุกคนปฏิบัติเช่นนั้นสังคมก็จะยุ่งเหยิงวุ่นวายที่สุดแล้วก็คงไม่มีใครที่จะอยู่ได้อย่างสุขสงบ
ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฏเกณฑ์ร่วมกัน การที่จะให้ผู้อื่นเคารพสิทธิของตนเองและไม่เบียดเบียนตนเอง ตนก็ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นและไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตนเองอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเองอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้นต่อผู้อื่น
ปราชญ์ในสมัยกรีกโบราณเช่น โสเครตีส เพลโต และอริสโตเติ้ลต่างก็พยายามหาคำตอบที่ว่า อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต? ความดีคืออะไร? และมนุษย์ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร? เอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าดี? ความดีนั้นเป็นสากลหรือไม่ หรือความดีจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคมแต่ละยุคสมัย? ความยุติธรรมคืออะไรและใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน?

ความยุติธรรมเป็นแม่แบบของแนวทางต่างๆ เป็นแนวทางในเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งมีกฏหมายเป็นเครื่องมือในการทำหน้าที่ ความยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดเพราะการที่คนเราจะกำหนดว่าอะไรคือความดี แล้วความดีกับความชั่วต่างกันตรงไหนเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันอย่างละเอียด

โสเครตีสเชื่อว่าถ้าเราไม่สามารถหาคำนิยามของคุณธรรมเหล่านี้ได้ เราก็จะไม่สามารถมีความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมได้ และการตัดสินว่าการกระทำหนึ่งมีความยุติธรรม หรือกล้าหาญ ฯลฯ หรือไม่ ย่อมปราศจากหลักเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือ

คุณแม่คนนึงแบ่งเค้กให้ลูกแฝดทั้งสองคน คุณแม่แบ่งให้ลูกคนที่โตกว่าไม่กี่ชั่วโมง น้อย กว่าอีกคน
คนโต บอกคุณแม่ไม่ยุติธรรม ถึงผมจะแก่กว่าไม่กี่ชั่วโมงก็ไม่ใช่ว่าผมจะได้เค้กน้อยกว่า(สมมติฮะสมมติ)
แล้วคุณคิดว่าความยุติธรรมคืออะไร
การแบ่งครึ่งๆ อย่างเท่ากัน หรือเปล่า.....
ขณะที่พี่คนโตกว่าบอกไม่ยุติธรรม ส่วนคนน้องว่ามันยุติธรรมดีแล้ว
หรือความยุติธรรมก็คือเรื่องของผลประโยชน์?

ความยุติธรรม คือ ยุติ และ ธรรม ตีความตามตัวอักษรได้ว่า เป็นธรรมอันนำไปสู่ความยุติ คือจบลงแห่งเรื่องราวJohn Lawl กล่าวไว้ว่า Justice is conditions of fair equality of opportunity

ในความเห็นราบูคิดว่าความยุติธรรมก็เหมือนกับประชาธิปไตยคือ ความคิดเห็นของคนส่วนมากที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับคือผลประโยชน์ที่กลุ่มคนได้รับเหมือนกัน คิดว่าเหมือนผลประโยชน์ของส่วนรวมนั่นแหละ แน่นอนว่าบางครั้งความยุติธรรมมันต้องขัดกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มๆนึง
ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้มีกฎหมายบังคับใช้ในสังคม ถ้าคนไหนทำผิดตามหลักเกณฑ์ของสังคมนั้นจะมีบทบัญญัติในการลงโทษ ซึ่งคนส่วนมากเห็นด้วยกับหลักการข้อนี้ ตัวอย่างเช่น คนที่ขโมยของถูกปรับ ฯลฯ นั่นคือความยุติธรรมของสังคม
ความยุติธรรมเป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคม ซึ่งความยุติธรรมของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น หากสังคมหนึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การขโมยของเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ถือว่ายุติธรรม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความยุติธรรมที่เป็นที่นิยมมากที่สุดเป็นความยุติธรรมที่ต้องอยู่คู่กับ คุณธรรมและจริยธรรม ที่เป็นเครื่องช่วยในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง และเหมาะสม แล้วความยุติธรรมแบบไหนที่คนส่วนมากจะยอมรับ

แนวคิดที่ยึดหลักคุณธรรม หรือคุณงามความดี (virtue)
อริสโตเติ้ลกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องเลือกเองว่าจะทำอะไรซึ่งดีสำหรับตนเอง และในขณะเดียวกันก็ดีสำหรับผู้อื่นด้วย ในการเลือกต้องใช้หลักของคุณธรรมมากกว่าที่เลือกตามความพอใจของตนเอง คุณธรรมสามประการที่อริสโตเติ้ลเน้นได้แก่
temperance (การรู้จักควบคุมตน, การข่มใจ,การรู้จักพอ),
courage (ความกล้าหาญ) ความกล้าหาญคือการเลือกตัดสินใจด้วยเหตุผลถึงแม้จะตระหนักถึงอันตรายที่อยู่ข้างหน้า ผู้ที่มีความกล้าหาญไม่ใช่ผู้ที่ปราศจากความกลัว แต่เลือกกระทำด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่กระทำคือความถูกต้อง ไม่ใช่กล้าบ้าบิ่นขาดการไตร่ตรองด้วยปัญญา
justice (ความยุติธรรม) นั่นคือมนุษย์ทุกคนควรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเท่าเทียมกันเหมือนที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเอง

จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฏศีลธรรม (1) ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ethic ซึ่งหมายถึง system of moral principles, rules of conduct (2) คำว่า ethic มีรากศัพท์มาจากคำว่า ethos ในภาษากรีกซึ่งหมายถึงข้อกำหนดหรือหลักการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง และตรงกับคำในภาษาลาตินว่า mores ซึ่งต่อมากลายเป็นคำว่า morality ในภาษาอังกฤษ ( 3 )
คำว่า จริยศาสตร์ หมายถึง ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติและการครองชีวิตว่า อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกหรืออะไรผิด หรืออะไรควรอะไรไม่ควร (1) ตรงกับคำว่า ethics ในภาษาอังกฤษ


แนวความคิดเรื่องประโยชน์ส่วนรวม ( Utilitarianism)
เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคมใหญ่ก็จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งว่า pleasure ของใครจะสำคัญกว่ากัน?คำถามเหล่านี้ได้รับการอธิบายโดยแนวความคิดที่ว่า การกระทำที่นำประโยชน์สูงสุด แก่จำนวนคนที่มากที่สุด และให้ประโยชน์ได้นานที่สุด คือแนวทางปฏิบัติของมนุษย์


ความยุติธรรมมีจริงหรือไม่ ? ความยุติธรรมนั้นเมื่อเราแยกจากหมวดหมู่ของคำ ก็จะรู้ว่า คำว่าความยุติธรรมนั้น เป็นนามธรรม(abstract noun) คือไม่มีตัวตนจับต้องไม่ได้ ตามหลักวิทยาศาสตร์จะขออธิบายดังนี้ ความยุติธรรมนั้นจับต้องไม่ได้ ความยุติธรรมมีจริงเพราะเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเงื่อนไขไปสู่ข้อยุติของปัญหานั้นๆ ความยุติธรรมสัมผัสได้ แต่สัมผัสได้ด้วยใจ(mind)เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนเพราะว่าจิตใจ (mental) ของคนเราไม่เหมือนกัน




                              


                              

                               

                              

                           





 

    






































                               

ความขัดแย้ง


                     ในแต่ละวันเราจะพบกับความขัดแย้ง และข่าวของความขัดแย้งทั้งในองค์การ และสังคมทั่ว ๆ ไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนระหว่างประเทศ ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนา แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่และอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมดังที่เหมาเจ๋อตง กล่าวไว้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีโลก ดังนั้นผู้เขียนจึงเสนอบทความนี้เพื่อท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจในเรื่องความหมาย และแนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง อันนำไปสู่การปรับแนวคิดให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งกัน




ความหมายของความขัดแย้ง
      ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525
ขัด (หน้า 137) เป็นคำกิริยา หมายถึง ไม่ทำตาม ฝ่าฝืน ขืนไว้ แย้งกัน ไม่ลงรอยกัน                แย้ง (หน้า 675) เป็นคำกิริยา หมายถึง ไม่ตรงหรือลงรอยเดียวกัน ต้านไว้ ทานไว้  สรุปความว่า ความขัดแย้ง หมายถึง การกระทำที่ไม่ลงรอย ขัดขืน หรือต่อต้านกัน
         พจนานุกรมของเวบสเตรอร์ (Webster’s Ninth New Collegiate Dictionary) ได้ให้ความหมายของคำว่า ความขัดแย้ง (Conflict) ไว้ดังนี้ (หน้า 276)
1.  การต่อสู้ การรบพุ่ง การสงคราม
2.  (a) การแข่งขันหรือการกระทำที่ตรงกันข้าม (ซึ่งสืบเนื่องมาจาก ความต่างกันในเรื่องความคิดเห็น ความสนใจ หรือบุคลิกภาพ)
  (b)  ความคับข้องใจ ซึ่งเกิดมาจากความปรารถนาแรงขับ ความต้องการที่ขัดกันทั้งภายในตัวบุคคลแลภายนอก
 3.  ได้มีผู้รู้ให้ความหมายของคำว่า ความขัดแย้งไว้ต่าง ๆ กัน ความหมายที่สำคัญ ๆ  มีดังนี้
 - ความขัดแย้ง เป็นการต่อสู้ดิ้นรนระหว่างผู้ที่ไม่ลงรอยกัน (ทั้งบุคคลหรือกลุ่ม) ในด้านความต้องการ ความปรารถนา ความคิด และผลประโยชน์ ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือกลุ่มที่เผชิญหน้าไม่สามารถหาข้อยุติที่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายได้
- ความขัดแย้ง เป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องต้องกัน ระหว่างกลุ่มที่มีความสนใจต่ากัน                                               
 - ความขัดแย้ง เป็นกระบวนการหนึ่งที่เริ่มต้นเมื่อกลุ่มหนึ่งรับรู้ว่าตนถูกทำลายจากกลุ่มอื่นหรือส่อเค้าว่ากลุ่มอื่นตั้งท่าจะทำลายตน
- ความขัดแย้ง หมายถึง สภาพการณ์ที่ทำให้คนตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจะตัดสินใจหรือตกลงหาข้อยุติอันเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายได้
- ความขัดแย้ง หมายถึง สถานการณ์ที่คนมีความเห็น ความเชื่อไม่ตรงกัน และตกอยู่ในภาวะที่ไม่อาจจะตกลงหาข้อยุติที่น่าพอใจได้ทั้งสองฝ่าย หากปล่อยปละละเลย ไม่หาทางทำความเข้าใจอาจก่อให้เกิดความแตกแยก อิจฉาริษยา ซึ่งมีผลกระทบไปถึงความเสื่อมโทรมของหน่วยงานได้
- ความขัดแย้ง หมายถึง สภาพการณ์ที่บุคคล 2 ฝ่าย มีความคิดเห็น หรือความเชื่อที่ไม่ตรงกันและยังไม่สามารถหาข้อยุติที่สอดคล้องต้องกันได้
- ความขัดแย้งขององค์การ คือ ความไม่เห็นพ้องต้องกันระหว่างสมาชิก หรือกลุ่มขององค์การสองกลุ่ม หรือมากกว่าเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับว่า พวกเขาจะต้องมีส่วนร่วมในทรัพยากรที่จำกัด หรืองานต่าง ๆ หรือพวกเขามีความแตกต่างในด้านสถานภาพ เป้าหมาย ค่านิยม การรับรู้ ทัศนคติ ความเชื่อซึ่งแตกต่างกันและไม่เห็นพ้องต้องกัน ต่างก็พยายามแสดงทัศนะของพวกเขาให้เด่นกว่าบุคคลอื่น หรือความต้องการของเขาไม่ได้รับการตอบสนอง

        จากความหมายดังกล่าวมาพอสรุปได้ว่า ความขัดแย้งเป็นความรู้สึกนึกคิด หรือการกระทำที่ขัดกันทั้งภายในตนเอง ระหว่างบุคคล และระหว่างกลุ่ม ซึ่งมีผลทำให้เกิดการแข่งขัน หรือการทำลายกัน



แนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง

                                ขอตั้งคำถามวัดความรู้สึกของท่านผู้อ่านว่า ท่านมีความรู้สึกอย่างไร เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัวของท่าน หรือในหน่วยงานของท่าน ? ท่านมีความรู้สึกอย่างไร แล้วถ้าท่านจะถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นภาพวาด ท่านจะวาดเป็นภาพอะไรให้ตรงกับความรู้สึกของท่านมากที่สุด (นึกไว้หรือจะวาดจริง ๆ สัก 1 ภาพก็ได้)



       (เฉลย)

                                ถ้าท่านวาดเป็นภาพคนหน้าบึ้งหรือโกรธ (คนส่วนมากวาดภาพนี้) หัวใจแตกร้าว, คนด่าทอกัน, เส้นยุ่ง ๆ คนหันหลังให้กัน คนงัดข้อกัน วิวาทชกต่อยกัน ตลอดจนภาพที่มีไม้ มีด ปืน               ลูกระเบิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ฯลฯ ขอเฉลยว่าท่านมีแนวความคิดเกี่ยวกับความขัดแย้งแบบโบราณ (เดิม) มองความขัดแย้งเป็นโทษเป็นปัญหา

                                แล้วภาพแบบใดจึงจะไม่โบราณหรือทันสมัย (ใหม่) ภาพที่เป็นกลาง ๆ ได้แก่ เครื่องหมาย + กับ ลูกศรไปคนละทางภาพที่แสดงถึงผู้มีแนวความคิดเกี่ยวกับความขัดแย้งที่ทันสมัย                (จะมีจำนวนน้อยมาก) ตัวอย่างภาพที่พบ เช่น เป็นภาพเส้นไม้หรือหวายขัดกัน ผู้วาดอธิบายว่า ไม้ไผ่อ่อน ๆ แต่ละเส้นถ้านำมาขัดกัน จะทำให้เกิดเป็นกระดัง ชะลอม หรือรั้วที่แข็งแรงให้ประโยชน์ได้ดี เป็นการมองว่าความขัดแย้งทำให้เกิดประโยชน์แก่องค์การได้ ทำให้เกิดการตัดสินใจที่รอบคอบขึ้น

                                ผู้วาดอธิบายว่า ความขัดแย้งถ้าเรามองผิวเผินเปรียบเสมือนกองขยะเป็นสิ่งน่ารังเกียรติ มีกลิ่นเหม็น แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้งกองขยะ (ความขัดแย้ง) นั้น มีประโยชน์ เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้เจริญออกดอกสวยงามได้ ความขัดแย้งก็เช่นเดียวกันมีประโยชน์ต่อองค์การ เป็นเชื้อ เป็นปุ๋ย ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สร้างความเจริญให้แก่องค์การได้วาดภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอธิบายว่า สังคมประชาธิปไตย ย่อมต้องมีความคิดที่หลากหลายและขัดแย้งกันได้ถือเป็นเรื่องธรรมดา



                                แนวคิดหรือทัศนะเกี่ยวกับความขัดแย้ง สรุปได้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง            แบ่งได้ชัดเจน 2 แนวคิดคือ

                                1.  แนวคิดเดิม ถือว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และเป็นผลร้ายทั้งในส่วนบุคคลและองค์การ เป็นสัญญาณของความผิดพลาดบางอย่างขององค์การ หรือเป็นความล้มเหลวของการบริหาร คนส่วนมากจึงหลีกเลี่ยงและกลัวการมีความขัดแย้ง ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ต้องเก็บกด หลีกเลี่ยง หรือกำจัดให้หมดไป ใครก่อปัญหาความขัดแย้งคือตัวแสบขององค์การ

                                2.  แนวคิดใหม่ ถือว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติที่มีในสังคม และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มีทั้งคุณและโทษ ความขัดแย้งจึงมิใช่สิ่งแปลกประหลาดหรือสิ่งที่น่ารังเกียจแต่เป็นสิ่งที่ควรศึกษาให้เข้าใจจนสามารถใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งได้ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย ต้องอาศัยความขัดแย้งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เพราะจากการขัดแย้งนั้นจะเกิดมติอันถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและบ้านเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งตรงกับแนวคิดที่ว่า ความขัดแย้งบางอย่างจำเป็นต้องมีเพื่อเป็นการกระตุ้นให้องค์การไม่เฉื่อยชา และมีการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแต่ความขัดแย้งนั้นจะต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะไม่สูงหรือต่ำเกินไป